เส้นทางประชาธิปไตย:ปัญหาสื่อมวลชนสมัยใหม่ยุคประชาธิปไตยล่ม

โดย พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ในปัจจุบัน “ข้อมูลข่าวสาร” กลายเป็นสิ่งที่เราต้องบริโภค เป็นอาหารสมอง ที่เติมเต็มศักยภาพและเสริมสร้างการรู้เท่าทันให้กับตัวตนของผู้รับข่าวสาร ผู้ผลิตรายการสื่อหลายๆ ราย พยายามจะย่อยข้อมูลข่าวสารให้ง่ายและสะดวกในการบริโภค โดยผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หรือโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ประดังประเดเข้ามาได้อย่างเต็มพิกัด ในแบบที่รับไม่อั้นได้ “ทุกที่ทุกเวลา” ทุกวันนี้ ผู้รับสารตาดำๆ เริ่มตระหนักถึงสภาพความล้นเกินของช่องทางการสื่อสาร การสำลักสำรอกที่มีต่อข้อมูลข่าวสาร อันเกินความจำเป็นกลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น โจทย์ที่ตั้งขึ้นกับบทบาทสื่อมวลชน ในบริบทของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่จึงมิใช่เป็นเพียงการกระทู้ถามที่มีต่อการครอบงำและการควบคุมสื่อมวลชน ที่เกิดจากเจตนาในการหลอมรวมทางธุรกิจและเทคโนโลยีสื่อเท่านั้น

ในทางกลับกัน เรากลับต้องตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงกับสภาวการณ์ล้นเกินของข้อมูลข่าวสาร และการแตกตัวของช่องทางการสื่อสารที่เกิดจากพัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเชื่อมโยงและประสานองค์ความคิดของคนในสังคมให้สมดุลเป็นหนึ่งเดียวอีกด้วย

หากจะตั้งต้นวิเคราะห์พัฒนาการของประชาธิปไตยคู่ขนานไปกับพัฒนาการของสื่อมวลชนแล้ว จะเห็นได้ว่า การกำเนิดขึ้นของเทคโนโลยีสื่อได้ถูกคาดหวังให้เป็นประหนึ่งสถาบันตัวแทน ที่เชื่อมประสานให้เกิดพื้นที่กลางในการสื่อสารระหว่างคนในสังคมกับสถาบันเชิงอำนาจในสังคม นั่นก็คือ “รัฐ”

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สื่อมวลชนได้รับการสถาปนาให้เป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ผ่านบทบาทของการเป็นพื้นที่สาธารณะ (Public Sphere) ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนในสังคมได้มีโอกาสสื่อสาร สะท้อนเสียง และแสดงความต้องการของตนไปสู่รัฐ ภายใต้กรอบของการตระหนักร่วมกันซึ่งผลประโยชน์สาธารณะ

จึงไม่แปลกอะไรที่นักคิดผู้สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตย จะยกย่องสถาบันสื่อว่าเป็นสถาบันอันทรงพลังที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบอบประชาธิปไตย เป็นสถาบันที่สร้างความโปร่งใสให้กับการบริหารกิจการสาธารณะ ผ่านภารกิจของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจรัฐแทนประชาชน

อย่างไรก็ตาม ภาพฝันที่ประสงค์จะให้สื่อมวลชนเป็นหนึ่งในสถาบันที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตย ก็กลายเป็นเครื่องหมายคำถามที่เกิดขึ้นในใจของคนในสังคม จากข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าพัฒนาการของสื่อสารมวลชนที่ผ่านมา สะท้อนภาพของสื่อมวลชนในบริบทที่ถูกครอบงำ ทั้งจากพันธนาการของรัฐและพันธนาการของทุน สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือหนึ่งของกลุ่มผู้มีอำนาจในการให้ได้มาและดำรงไว้ซึ่งอำนาจของตน

ความไร้อิสระของสถาบันสื่อกลายเป็นภาพที่เห็นจนชินตา และฝังรากเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนในสังคม ที่ไม่เพียงจะกระทบกับเสรีภาพของพลเมืองตาดำๆ เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อ ที่ต้องสำเหนียกตนเองว่า กำลังอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของสัมปทานสื่อ โดยจำต้องเล่นบทบาทตามกระแสไปกับการเซ็นเซอร์ตัวเอง หรือนำเสนอความบันเทิงแบบเบาๆ เพื่อหลีกเลี่ยงแรงกระทบกระทั่งที่อาจมีผลต่อธุรกิจของตน

แม้จะมีคำอรรถาธิบายเชิงเศรษฐศาสตร์สนับสนุนการผูกขาดที่เกิดขึ้นในธุรกิจการสื่อสารในลักษณะที่มองว่า ธุรกิจสื่อมวลชนได้สถาปนาขึ้นมา ภายใต้กลไกความไม่สมบูรณ์ของตลาด ซึ่งเปิดโอกาสให้สถาบันแห่งนี้มีรูปแบบที่เน้นไปสู่การผูกขาดโดยธรรมชาติ เป็นไปตามตรรกะที่ว่าด้วยการเป็นธุรกิจสัมปทานที่มีการลงทุนสูง จำนวนผู้ประกอบการต่ำ

แต่ด้วยปรากฏการณ์ของการหลอมรวมเทคโนโลยีสื่อในปัจจุบัน กลับตอกย้ำภาพการผูกขาดของธุรกิจสื่อให้ทวีคูณมากขึ้น เพราะด้วยเทคโนโลยีสื่อที่หลอมรวมเอาศักยภาพของโทรทัศน์ วิทยุ หรือโทรศัพท์ให้มาอยู่บนอุปกรณ์สื่อสารเพียงตัวเดียว เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภคนั้น ในทางกลับกันกับเป็นกลไกที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการผูกขาดช่องทางการสื่อสารอย่างเบ็ดเสร็จให้กับผู้ประกอบการสื่อบางราย ซึ่งในท้ายที่สุด อาจนำไปสู่การผูกขาดเนื้อหาของสื่อให้อยู่ในกำมือของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม

จึงเกิดการตั้งประเด็นคำถามถึงความเหมาะสมในการให้สื่อมวลชน ซึ่งเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมดำเนินธุรกิจไปตามกลไกตลาดอย่างสุดโต่ง พร้อมๆ กับข้อสงสัยที่มีต่อสโลแกนที่ว่า “ยิ่งรวมกันยิ่งดี” ว่าตกลงมันจะดีกับผู้บริโภคข่าวสารหรือมันจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางรายกันแน่

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการครอบงำสื่อมวลชนคงเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของปรากฏการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากยังมีประเด็นปัญหาหลักอีกประเด็น ที่จะนำมาสู่การกระจัดกระจายทางความคิดของคนในสังคม นั่นก็คือ การที่เทคโนโลยีสื่อได้พัฒนาและมีหลากหลายช่องทางมากขึ้น อันนำมาสู่การแตกตัวของเนื้อหาข่าวสารตามช่องทางที่หลากหลายนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น จากการที่สื่อกระแสหลักบางตัว เช่น โทรทัศน์เคยเล่นบทบาทในฐานะของตัวกลางในการสร้างความเข้าใจและประสบการณ์ร่วมของคนในสังคม ผ่านช่องทางที่มีรูปแบบการนำเสนอรายการที่หลากหลาย ดูได้ทุกเพศทุกวัย ในช่องเดียว เริ่มมีการแตกตัวตามพัฒนาการของช่องทางการสื่อสารที่มีมากขึ้นและราคาถูกลง จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “สื่อส่วนบุคคล” ที่ต่างคนต่างมีเครื่องรับสารส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หรือโทรศัพท์ เพื่อตอบสนองต่อการเข้าถึงเนื้อหาสาระของรายการที่ถูกนำเสนอไปตามกลุ่มเป้าหมายในรูปแบบหนึ่งช่องหนึ่งของกลุ่มเป้าหมาย

ภาพของการนั่งดูโทรทัศน์ร่วมกันในช่วงหัวค่ำของคนในครอบครัวที่เคยเห็นจนชินตา ซึ่งสะท้อนบทบาทของสื่อมวลชนที่เชื่อมประสานและโยงใยคนต่างเพศ ต่างวัย และต่างวัฒนธรรมในสังคมเข้าด้วยกันจะกลับกลายเป็นอดีต และถูกแทนที่ด้วยภาพของปัจเจกชนแต่ละคนบริโภคข่าวสารความบันเทิงในแบบที่ถูกจริตกับตนเองบนหน้าจอส่วนตัว ในลักษณะต่างคนต่างดู

ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้สะท้อนซึ่งความเฉพาะทางของเนื้อหาข่าวสาร ที่แปรผันไปตามกลุ่มเป้าหมาย อันอาจจะส่งผลต่อการล่มสลายของบทบาทการเป็นพื้นที่สาธารณะของสื่อมวลชน ในฐานะเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมประสบการณ์บนหน้าจอของคนในสังคม ที่เป็นกลไกการสื่อสารและเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันของคนในสังคมอย่างสมดุล ไม่แตกแยก ประเด็นคำถามที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนในยุคสมัยใหม่ จึงมิใช่เป็นเพียงการสร้างสื่ออิสระ ที่ตอบสนองบทบาทการเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชนอย่างแท้จริง โดยการทำให้สื่อมวลชนหลุดพ้นจากการครอบงำที่เกิดจากพันธนาการของรัฐและทุนเท่านั้น หากแต่ยังต้องเผชิญหน้ากับบริบทใหม่ของพัฒนาการทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งที่มาในรูปแบบของการหลอมรวมและการแตกตัว เพื่อสร้างสมดุลไม่ให้เทคโนโลยีเอื้อประโยชน์กับการผูกขาดที่มากขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็ไม่ให้เทคโนโลยีสร้างปรากฏการณ์การกระจัดกระจายของข้อมูลข่าวสาร จนทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถดำรงบทบาทของการเป็นพื้นที่กลางในการประสานเชื่อมโยงคนในสังคมได้อีกต่อไป

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550 07:00:00

แท็ก คำค้นหา